Categories
Diary

ไหนๆ เราไม่ค่อยใช้โซเชียล มาลบบัญชีกันดีกว่า

ที่ผ่านมาเราก็ไม่ค่อยได้ใช้โซเชียลอยู่แล้ว เพราะรู้ผลเสียตั้งแต่ติดโซเชียล มีรอยเท้าดิจิทัล และอารมณ์เสียง่ายขึ้น ในบทความนี้เขียนสาเหตุทำไมถึงแนะนำให้ลบบัญชี

ช่วงที่ผ่านมาเราจะพบแฮชแท็ก #deleteFacebook #deleteInstagram (หรือย่อเป็น IG) และ #deleteTwitter เป็นแฮชแท็กที่กล่าวถึงการลบบัญชีผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง Facebook, Instagram และ Twitter ที่มีข่าวไม่ค่อยจะดีเท่าไรสำหรับทั้งสามเครือข่ายสังคมออนไลน์เหล่านี้ (ไม่รวมถึง Tiktok ที่ใช่ว่าจะเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ดีมาก แถมยังมีข่าวที่ส่งผลเสียต่อสมองผู้ใช้งาน หรือที่เรียกว่า Tiktok Brain ตามที่กล่าวถึงบทความในเว็บ Wall Street Journal)

เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่กล่าวถึงเหล่าข้างต้นนี้เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ผู้คนใช้งานเยอะมาก โดยจากสถิติที่เก็บข้อมูล Global Digital Report ที่เก็บจากผู้ใช้งานในไทยพบว่า คนไทยใช้งานบริการกลุ่มนี้เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เมื่อดูไปในรายละเอียดพบว่าคนไทยใช้งาน Facebook มากที่สุด

ส่วนของเราเองก็เคยสมัครสมาชิกสำหรับการใช้งานเครือข่าวสังคมออนไลน์ทั้งสามเว็บ โดยสมัคร Facebook มาก่อน จากนั้นค่อยสมัคร Instagram และ Twitter วัตถุประสงค์สำหรับการสมัครสมาชิกก็มีไม่กี่อย่าง ก็โพสสเตตัส โพสรูป แชร์โพสต่าง ๆ รวมถึงแชท ระยะเวลาที่เราสมัครสมาชิกจนถึงปัจจุบันก็ประมาณ 10 ปี+ โดยเราสมัครสมาชิกตั้งแต่ปี 2010 (หรือปี พ.ศ.2553)

การใช้งานเครือข่าวสังคมออนไลน์เหล่านี้ เราใช้งานผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ผ่านทางเว็บไซต์ รวมถึงอุปกรณ์มือถือ แท็บเล็ตที่ใช้งานผ่านทางแอพที่ดาวน์โหลดบน App Store หรือ Google Play Store ที่พบว่ามันก็เล่นได้สนุกดี เล่นเพลิน ไม่ได้มีอะไร

จนกระทั่งผ่านเรื่อย ๆ พบว่าการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์เหล่านี้เป็นระยะเวลานานก็ส่งผลต่อเราเหมือนกันนะ คือแน่นอนว่ามันทำให้เราติดต่อได้สะดวกขึ้นมากกว่าเดิม ติดต่อคนที่ไม่ได้เจอนานได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ดีเราสังเกตการใช้งานบริการเหล่านี้ก็พบว่ามันมีผลเสียต่อเรา (และคนอื่น) เช่นกัน แล้วมันมีผลเสียอย่างไรบ้าง?

iPhone X beside MacBook
รูป Facebook บนโทรศัพท์มือถือโดย Timothy Hales Bennett บน Unsplash

เรื่องแรก ติดโซเชียล อันนี้ชัด หลังจากการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์นี่ทำให้เราต้องเข้าเว็บกลุ่มนี้เพื่อติดตามว่ามีอะไรอัพเดทอยู่ตลอด จุดนี้นึกถึงเรื่อง FOMO (ย่อมาจาก Fear of missing out) ที่กล่าวถึงการกลัวการตกข่าว กลัวการตกกระแส กลัวเราจะไม่รู้ว่ามีการอัพเดทจากเพื่อน (หรือเรียกว่า Friend ในเฟสบุ๊ค) ดังนั้นแล้วเราจำเป็นต้องเข้าไปเช็คอยู่บ่อย ๆ ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เมื่อเช็คบ่อยมากขึ้นก็ส่งผลทำให้เบียดบังเวลาสำหรับการทำอย่างอื่นจนกระทั่งแทบไม่ได้ทำอะไรเลยยกเว้นยกมือถือ หรือเปิดคอมเข้าเว็บไซต์เหล่านี้มาเช็คข่าว เช็คสเตตัสครับ สิ่งนี้เองซึ่งพอใช้ไปสักพักก็เห็นและว่า เราจะรู้พวกนี้ไปทำไม

สอง การมีรอยเท้าดิจิทัล (Digital Footprint) เวลาที่เราใช้งานบนอินเตอร์เน็ต เราจะทิ้งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ที่อยู่ไอพี (IP Address) ประวัติการใช้งานเว็บไซต์ คุกกี้ สเตตัสและรูปที่โพสลงอินเตอร์เน็ต โดยข้อมูลเหล่านี้แบ่งออกได้เป็นสองประเภท

  • หนึ่งคือทางอ้อม (Passive digital footprint) ที่เก็บจากการใช้งานเว็บไซต์โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจที่จะทิ้งรอยเท้าไว้ ข้อมูลที่จัดอยู่ในประเภทนี้ได้แก่ ที่อยู่ไอพี ประวัติการใช้งานเว็บไซต์ หรือคุกกี้
  • ส่วนอีกประเภทเป็นทางตรง (Active digital footprint) ที่เป็นรอยเท้าที่เราตั้งใจ โดยที่เรายินยอม และรู้ตัว ข้อมูลเหล่านี้ได้แก่ สเตตัส รูป การกดปุ่มไลก์ ชื่อโปรไฟล์ ตำแหน่งที่ตั้ง (Location) เป็นต้น

เราจะกล่าวถึงการมีรอยเท้าดิจิทัลทางตรง ที่เวลาเราโพสข้อมูลอะไรก็ตามในเครือข่ายสังคมออนไลน์ อันนี้เราสามารถค้นประวัติย้อนหลังได้ รวมถึงข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ประมวลผลเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรม บริหารความเสี่ยง รวมถึงวางแผนธุรกิจ และยิงโฆษณา (หรือเรียกกันบนอินเตอร์เน็ตว่ายิงแอด (Ads)) จุดนี้สังเกตได้จากการโพสสเตตัสเรื่องลงทุน หรือเรื่องการเมืองแล้วเราจะเห็นการยิงโฆษณาที่เกี่ยวข้องอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงการยิงโฆษณาการพนันด้วย

brown sand on beach during sunset
รูปรอยเท้าโดย Trent Bradley จากเว็บ Unsplash

สาม เรื่องอารมณ์เสีย เวลาที่เราใช้งานบนเครือข่ายสังคมออนไลน์เหล่านี้ แล้วมองไปที่สเตตัสที่คนอื่นโพสที่มีความแมส เราจะสังเกตว่าสเตตัสเหล่านี้แสดงถึงอารมณ์โกรธเกรี้ยว จนไปถึงการฉอดที่เกิดขึ้นในออนไลน์ที่เกิดเป็นดราม่า ทั้ง ๆ ที่คนที่ไปฉอดด้วยก็ไม่ได้รู้จักอะไรซักหน่อย แถมบางคนฉอดแรงไปหน่อยจนขึ้นสน. เรื่องหมิ่นประมาท พรบ.คอม จุดนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร ก็เพราะต้องการให้คนอื่นมาสนใจนี่แหละ รวมถึงจุดนี้เป็นเรื่องของการออกแบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ด้วยที่คนอยู่ในกลุ่มเดียวกันมาก ๆ หรือที่เรียกว่าห้องเสียงสะท้อน (Echo Chamber) ซึ่งก็มาจากการออกแบบเช่นเดียวกันนี่แหละ พออ่านสเตตัสเหล่านี้ไปก็ส่งผลลบต่อจิตใจนะ ทำให้อารมณ์ไม่ดีไปทั้งวันเลย

สี่ การอัพเดทอัลกอริทึม (Algorithm) อยู่ตลอด เราสังเกตจากการใช้งาน รวมถึงอ่านข่าวเราจะพบว่าทางผู้ให้บริการเว็บไซต์เหล่านี้อัพเดทฟีดอยู่ตลอด จนลดการมองเห็นทำให้เราไม่เห็นสเตตัสคนที่ตาม และคนอื่นแทบไม่ได้มากดไลก์ ตอบสเตตัส นอกจากนี้ทางผู้ให้บริการเว็บอัพเดทให้เน้นการโพสในรูปแบบวิดีโอมากกว่า (จากฟีเจอร์ของ Reels ที่พยายามจะแข่งกับ Tiktok) จุดนี้เราก็เคยมีเพจ (แต่ปิดไป) แต่คนก็ไม่ได้มามองเห็นอะไรขนาดนั้น แถมอีกอย่างเราไม่ได้ต้องการให้ตัวเองพึ่งพาเว็บไซต์เหล่านี้มากจนเกินไปอยู่แล้วนี่ เราจะไปใช้เว็บกลุ่มนี้ไปทำไม

brown egg
ถ่ายโดย Tengyart บน Unsplash

แถมอีกอย่างที่เป็นปัญหาที่พบบ่อย คือระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับการตรวจสอบเนื้อหา (Moderation) ที่มันทำงานเพี้ยนไปหน่อย ขนาดสเตตัสที่ออกไปในแง่ที่ไม่เหมาะต่อการมีอยู่บนแพลตฟอร์มยังไม่ได้รับการถูกลบเนื้อหาเลย พอกดปุ่มแจ้งปัญหาไป ทางระบบแจ้งกลับมาว่า เนื้อหาเหล่านี้ไม่ผิดกฏชุมชน ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ากฏชุมชนนี่มันคืออะไรนะ แต่คนอื่นที่โพสแล้วดูไม่น่าจะโดนลบ ก็โดน เออ อันนี้ก็งง จุดนี้ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาที่ระบบปัญญาประดิษฐ์เองด้วยที่เวลาเรียนรู้ว่าสเตตัสไหนเหมาะไม่เหมาะแล้วได้รับข้อมูลที่เพี้ยนไป ส่งผลให้ปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ทำงานเพี้ยนออกไปครับ จุดนี้เราก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เพราะเราไม่ได้เป็นเจ้าของเว็บ และเจ้าของเนื้อหานี่

อย่างไรก็ดี จุดนี้ทางเฟสบุ๊คประกาศว่าจะเอาคนมาช่วย แต่คิดว่าจะช่วยได้เหรอ เพราะดูจากคอมเม้นต์ในโพสทางเพจดราม่าก็พบว่าคนยังช่วยไม่ค่อยจะได้เลยนะ

รูปถ่ายโดย Sam Pak บน Unsplash

ทั้งห้าเหตุผลนี้ (บวกกับอีกเหตุผลหนึ่งเลยคือ Elon Musk เป็นเจ้าของทวิตเตอร์ไปแล้ว) เราเลยมองว่าเออจะใช้ไปทำไม แถมช่วงหลังเราก็ไม่ได้เข้าไปใช้งานเว็บกลุ่มนี้อยู่ประจำอยู่แล้ว เราก็เลยตัดสินใจที่จะลบตามเทรนด์แฮชเท็ก #deleteFacebook #deleteInstagram และ #deleteTwitter ตามที่ปรากฏบนอินเตอร์เน็ตครับ โดยวิธีการลบ ผู้อ่านสามารถติดตามได้ที่ด้านล่างนี้ครับ

เมื่อตัดสินใจลบแล้ว เราจะต้องรอเป็นระยะเวลา 30 วัน บัญชีที่เราใช้งานเว็บเหล่านี้ก็จะถูกลบ (ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องใช้เวลานานขนาดนั้น เพราะเราเคยใช้ Mastodon ที่กดลบแล้วก็ลบได้เลย) พอลบออกไปแล้วเราก็เหลือเว็บนี้เพียงเว็บเดียวที่เราสามารถควบคุมเนื้อหาของเราเองได้ แถมไม่มีใครมาควบคุมเนื้อหาแบบที่เราเคยใช้บนเครือข่ายสังคมออนไลน์นี่ครับ

นอกเหนือจากนี้แล้ว ข้อดีของการไม่ได้ใช้โซเชียลก็ทำให้เรามีเวลามากขึ้น โพกัสกับงานได้ดีขึ้นด้วย ส่งผลให้เรามองเห็นได้ว่าหนึ่งวันนี่ทำอะไรได้เยอะเลยนะ แถมไม่ต้องมากังวลว่าเราจะตกข่าวอะไรไป ก็ข่าวเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องคนอื่น ไม่ได้เป็นเรื่องของเรา ถึงจะมีการอัพเดท เดี๋ยวทางโทรทัศน์ก็เอาเนื้อหาเหล่านี้มารายงานอยู่ดี (อย่างเช่นเรื่องเล่าเช้านี้ที่เอาคลิปจาก Facebook หรือ Tiktok มาออก) แล้วเราจะกังวลว่าเราจะตกข่าวไปทำไมนี่แหละครับ

ส่วนเรื่องการติดต่อกับเพื่อนซึ่งเป็นจุดที่เรา รวมถึงผู้อ่านอาจจะกังวล อันนี้เราก็ยังคงแอพแชทไว้แอพหนึ่งก็คือไลน์ (LINE) ที่เราสามารถติดต่อกับเพื่อนได้อยู่แล้วเพียงแค่พิมพ์ข้อความออกไป หรือถ้าไม่มีไลน์เลย เราก็โทรศัพท์ไปหาก็ได้นี่ แล้วจะกังวลไปทำไมล่ะ?

ส่วนผู้อ่าน ถ้าไม่อยากจะใช้งานเว็บเครือข่ายสังคมออนไลน์เหล่านี้แล้วกังวลว่าจะขาดอะไรไป เราก็ตอบไปว่าก็ไม่ได้ขาดอะไรไป แถมได้คืนมาหลายอย่างครับ

กรณีที่ผู้อ่านใช้เว็บเหล่านี้สำหรับเรื่องธุรกิจ หรือเรื่องงาน

  • เราคิดว่าอาจจะมีไว้ก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปอะไรพวกนี้อยู่บ่อย ๆ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เข้าไปดูพวกนี้ เราสามารถใช้แอพช่วยทำให้เราโพสการอัพเดทได้สบายขึ้นนะ ตัวอย่างแอพเหล่านี้ก็เป็น Buffer
  • เราก็ไม่จำเป็นต้องโพสอัพเดทเรื่องงานแบบเต็ม ๆ ไว้ในเว็บเครือข่ายสังคมออนไลน์ เราสามารถโพสอัพเดทเรื่องงาน เรื่องธุรกิจจากการมีเว็บไซต์ของธุรกิจเราเองได้ การมีเว็บไซต์ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของเรามากกว่าครับ แล้วเราโพสลิ้งค์ไว้ในหน้าเพจของธุรกิจของเราเอง แถมเราสามารถลากผู้ใช้ที่เข้ามาทางเว็บเข้ามาติดตามเราผ่านทางเว็บเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้อีกจากเครื่องมือที่มีให้ ตัวอย่างเช่นการแชทผ่านแมสเซนเจอร์ของเฟสบุ๊คครับ

อัพเดท: เพิ่งมาเห็นโพสทวิตของคุณ @tpagon อันนี้ เออ ตรงกับเทรนด์ที่หลาย ๆ คนเลิกเล่นโซเชียลกันไปแล้วล่ะฮะ

By Kittisak Chotikkakamthorn

อดีตนักศึกษาฝึกงานทางด้าน AI ที่ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัย National Chung Cheng ที่ไต้หวัน ที่กำลังหางานทางด้าน Data Engineer ที่มีความสนใจทางด้าน Data, Coding และ Blogging / ติดต่อได้ที่: contact [at] nickuntitled.com