Medium เป็นเว็บแพลตฟอร์มที่ให้เราเขียนบทความลงไปในเว็บไซต์ที่ได้รับการก่อตั้งขึ้นโดยผู้ร่วมก่อตั้งเว็บ Blogger กับ Twitter ที่เราใช้งานอยู่ตอนนี้ เว็บนี้เป็นเว็บที่มีบทความหลากหลายมากตั้งแต่มืออาชีพ ไปจนถึงมือสมัครเล่นนั่นเอง แล้วนอกเหนือจากเว็บนี้แล้วยังมีเว็บอย่าง Facebook, WordPress.com ก็เป็นเว็บที่อนุญาตให้ครีเอเตอร์เขียนบทความลงไปในเว็บไซต์ได้เช่นเดียวกันกับ Medium แต่มีจุดแตกต่างกันนิดหน่อย ไปศึกษาได้ครับ
พอมาช่วงหลังนี้ เวลาอ่านบทความบนเว็บ Medium มีการจำกัดโควต้าอ่านฟรีสำหรับคนที่ไม่เป็น/เป็นสมาชิก (ที่ไม่จ่ายรายเดือน) ด้วย ซึ่งดีไหม สำหรับคนที่เขียนบทความอยู่แล้ว ถือว่าโอเค เพราะได้ส่วนแบ่งเลยนะ ซึ่งของเราก็สมัครไปเพราะมีเนื้อหาบางอย่างที่หาจากกูเกิลไม่ได้ เช่นบทความด้าน AI จาก Towardsdatascience ใน Medium ที่แนะนำเรื่องเกี่ยวกับ AI, Data Science ที่เผยแพร่ข่าว บทความให้แต่ละคนไปศึกษาเพิ่มเติมถึงทฤษฏี การเขียนโค้ดข้างใน ที่เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เลย เพราะของเราก็อ่านจากเว็บนี้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี บางเว็บมีเนื้อหาที่คล้ายกันกับบทความใน Medium และไม่ต้องจ่ายเงินด้วย เลยมองหาทางเลือกอื่น ๆ บ้าง (แต่ Medium ก็ยังเก็บไว้อยู่ในใจ อิอิ) ทางเลือกที่ครีเอเตอร์ในไทยใช้กันคือเฟสบุ๊ค
สำหรับคนเขียนบทความแบบ #นู๋ถึก ที่เขียนบทความลงเฟสบุ๊ค และเว็บพันทิป ที่อนุญาตให้ครีเอเตอร์เขียนบทความลงบนเว็บทั้งคู่ได้เลย แต่อย่างไรก็ดีเฟสบุ๊ค มีปัญหาเรื่องเนื้อหาที่ขัดต่อมาตรฐานชุมชนนะ เนื่องจากมาตรฐานมันไม่แน่นอนเลย เนื้อหาบางอย่างมัน 50/50 ก็สามารถบินได้ เวลาแชร์เนื้อหาบางอย่างก็บล็อคไลค์ แบนแอคเค้าท์ไม่สามารถโพสได้เป็นเดือน แถมฟังก์ชันเฟสบุ๊คโน้ต (Facebook Notes) ก็ถูกเอาออกไปเรียบร้อยแล้ว
อัพเดท: ตอนนี้ทางเฟสบุ๊คได้เปิดตัว Bulletin ที่ให้นักเขียนมาเขียนลงแพล็ตฟอร์มนี่ได้ครับ ซึ่งก็ยังมีเฟสบุ๊คดูแลอยู่ ยังไม่ใช่เว็บของเราอยู่ดี
ต่อมาก็เป็น WordPress.com ซึ่งตอนที่เขียนลงเว็บนี้ช่วงแรก ๆ ก็เขียนลง WordPress.com นะ อย่างไรก็ดี ข้อสังเกตที่พบเจอก็คือมันต้องสมัครแพคเกจราคาสูงไปหน่อย เพื่อที่จะใช้ความสามารถเพื่อปรับแต่ง Plugins ให้ใช้ได้ตามใจเราอยาก อย่างเช่น SEO เพื่อให้ค้นหาบนกูเกิลได้ง่ายขึ้น รวมถึงเราควบคุมนื้อหาเราเองไม่ได้อยู่ดี เพราะถูกควบคุมโดยทีมงาน WordPress.com
จากข้อสังเกตที่กล่าวถึงข้างบน เราติดสินใจเขียนบนเว็บที่ติดตั้งเองแบบ WordPress ไปเลยจะดีกว่าเพราะเหตุผลเพิ่มเติมด้านล่างนี้ ได้แก่
- ติดตั้ง Theme/Plugin ได้อิสระ อยากให้หน้าเว็บเราสวยขึ้นก็สามารถปรับแต่งได้
- ย้ายบทความได้ง่าย แค่ Export ออกมาจากเว็บแล้วนำไปใส่อีกเว็บได้ ส่วนขั้นตอน Export ศึกษาจากเว็บทั่ว ๆ ไปได้เลย
- สามารถเขียนบทความแล้วอ่านบนมือถือได้สะดวกมาก เนื่องจากมือถือมีโหมด Reader ทำให้เราอ่านได้สบายตากว่ามาก
สำหรับคนที่สนใจ สามารถเอา WordPress ไปติดตั้งลงบนเซิร์ฟเวอร์ของเราเอง หรือเช่าจากที่อื่นได้เลยครับผม แต่นอกเหนือจาก WordPress แล้ว เราสามารถนำเครื่องมืออย่าง Ghost, Jekyll หรืออื่น ๆ เพื่อมาเขียนบทความลงเว็บได้เช่นเดียวกันกับ WordPress แต่จะมีความยุ่งยากที่แตกต่างกันออกไป อันนี้สามารถศึกษาได้จากเว็บของผู้พัฒนาแต่ละเว็บได้เลยครับ